การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชของพริกไทย
วัชพืช คือศัตรูสำคัญอย่างหนึ่งของต้นพริกไทย ดังนั้นเราจึงควรต้องกำจัดวัชพืชก่อนที่จะเริ่มใส่ปุ๋ยทุกครั้งเพื่อให้ต้นพริกไทยได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ แต่ด้วยความที่ต้นพริกไทยเองมีระบบรากตื้นแผ่กระจายรอบทรงพุ่มวิธีการกำจัดวัชพืชจึงควรใช้จอบถากอย่างเบามือ ห้ามใช้จอบขุดเพราะจะทำให้รากพริกไทยขาดได้ ส่วนถ้ามีต้นหญ้าขึ้นบริเวณรอบๆก็ใช้จอบขุดหรื่อใช้มีดช่วยถากก็ได้
แมลงศัตรูที่มักจะพบเจอในต้นพริกไทย เช่น เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงอันตรายที่สำคัญเพราะมันจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ เถา และช่อพริกไทย โดยเฉพาะช่วงที่พริกไทยยังอ่อนทำให้ได้ผลผลิตที่ลดลง การป้องกันกำจัดควรใช้สารเคมีเข้ามาช่วยแก้ไขเป็นวิธีการที่ได้ผลเร็วและดีที่สุด
ส่วนปัญหาโรคที่ส่งผลต่อระบบรากของพริกไทยที่มักจะเจอในช่วงฤดูฝนมีอะไรบ้างและมีวิธีการรักษาอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาให้คะ
-
โรครากเน่าของพริกไทย
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora ลักษณะอาการในช่วงแรกคือ เถาจะเหี่ยว ใบจะเปลี่ยนกลายเป็นสีเหลืองและร่วง โดยใบจะร่วงหมดต้นภายในระยะเวลา 7-14 วัน ซึ่งอาการที่จะแสดงออกทางใบจะขึ้นอยู่กับรากที่ถูกทำลาย ในระยะต่อไปปราง (กิ่งแขนง) ก็จะเริ่มหลุดออกมาเป็นข้อๆตั้งแต่ช่วงยอดจนถึงโคนต้น สามารถสังเกตเห็นได้จากขั้วจะเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีดำ และร่วงลงมาในที่สุด ยิ่งถ้าไปคุ้ยดินโคนต้นออกดูจะพบว่าต้นตรงระดับผิวดินเริ่มเน่าดำ ส่งกลิ่นเหม็น
การป้องกัน ควรเตรียมพื้นที่ปลูกให้มีทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หลีกเลี่ยงการเข้าผ่านสวนเพราะมีความเป็นไปได้ว่าคนหรือสัตว์อาจจะพาหะในการนำโรคทำให้เกิดการระบาดเร็วขึ้นได้ ทำความสะอาดรองเท้าและเครื่องมือทุกชนิดที่ใช้ในสวนพริกไทยทุกครั้ง นำเถาพริกไทยที่เกิดโรคไปเผาทำลายทิ้งและตากหลักให้แห้ง กั้นรั้วชั่วคราวรอบบริเวณที่เป็นโรค การป้องกันการระบาดของโรคหากว่ามีการระบาดอย่างรุนแรงด้วยการพ่นสารป้องกันกำจัดฟอสอีทิล อะลูมิเนียม (80% ดับเบิลยู พี) หรือ ฟอสฟอริก-แอซิค (40%แอล)
-
โรครากขาว
เกิดจากเชื้อรา Fomes lignosus อาการคือใบเหลืองและร่วง ตรงบริเวณรากบางส่วนจะพบว่ามีเส้นใยสีขาวปกคลุม ภายในรากจะออกเป็นสีเทา พบการระบาดในช่วงฤดูฝน
การป้องกัน หากพบว่ารากยังถูกทำลายไม่มากเท่าไหร่ ก็ให้ตัดส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายแต่ถ้าพบว่าต้นไหนเป็นมาก ก็ควรขุดต้นและรากไปเผาไฟทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด แต่ถ้าการระบาดยังไม่หยุดให้ใช้สารป้องกันควินโตซีน (24% อีซี) 45-90 มิลลิลิตร ผสมน้ำราดหรือฉีดพ่นไปบริเวณหลุมปลูกและรอยแผล
-
โรครากปม
เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปมเข้าไปทำลายที่รากฝอยของต้นพริกไทยจนเห็นเป็นปมอย่างชัดเจน นอกจากนั้นไส้เดือนฝอยยังเข้าไปทำลายผนังเซลล์ ทำให้เกิดเป็นแผลส่งผลให้เป็นช่องทางให้เชื้อโรคอื่นๆเข้าร่วมทำลายพริกไทยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคโคนและรากเน่า ใบของต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบไม้จะร่วงบางครั้งก็จะเหี่ยว ทำให้ต้นแคระเกร็นผลิตดอกผลน้อย พบการระบาดในช่วงฤดูฝน
การป้องกัน ควรใช้สารที่สำหรับป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยคาร์โบฟูราน (3% จี) ฟีนามีฟอส (40% จี) คลุกลงไปดินก้นหลุมก่อนปลูกหรือรองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยการโรยไปรอบด้วยพื้นที่รัศมีทรงพุ่มในช่วงก่อนต้นฤดูฝนหรือปลายฤดูฝนแล้วรดน้ำอีกครั้ง
-
โรคราเห็นพริกไทย
เกิดจากเชื้อรามีลักษณะอาการคือเส้นใยสีขาวเจริญอยุ่บนผิวของเปลือกลำต้น กิ่ง และบริเวณใต้ใบ เมื่อเกิดอาการรุนแรง จะทำให้ลำต้น กิ่ง ใบ แห้งร่วงและส่งผลให้พริกไทยตายได้ในช่วงที่มีการระบาด เชื้อระบาดจะติดไปกับเศษซากพืช ลม และน้ำ เชื้อราชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในแปลงพริกไทยที่สภาพใบ (ค้าง) ที่ทึบ การถ่ายเทของอากาศไม่สะดวก พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ยิ่งในช่วงฤดูฝนเชื้อราจะแสดงอาการได้รุนแรง
การป้องกัน ควรจัดให้มีการระบายน้ำที่ดี อย่าให้น้ำท่วมขัง ตัดแต่งค้างพริกไทยให้โปร่ง และตัดส่วนที่พบว่าติดเชื้อราไปเผาทำลาย พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ (85% ดับเบิลยู พี) 30-80 กรัม ผสมกับน้ำฉีดพ่นให้ทั่วทุก 7-10 เมื่อเกิดการระบาด
(ตอนที่ 4 การเก็บเกี่ยวผลผลิตพริกไทย )