เรียนรู้วิธีปลูกพริกไทย (ตอนที่ 2 ขั้นตอนการเลือกกิ่งพันธุ์ปลูก)

ขั้นตอนการเลือกกิ่งพันธุ์ปลูก

เมื่อเราเตรียมพื้นที่ปลูก เตรียมดิน วางระบบโครงสร้างเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือการเตรียมกิ่งพันธุ์เพื่อนำมาปลูก ซึ่งเราสามารถที่จะเลือกได้ทั้งแบบตุ้มตอนหรือแบบถุงชำ ก็ได้ ส่วนการเลือกกิ่งพันธุ์ที่ดีและมีความแข็งแรงทนทานนั้นมักจะนิยมเลือกกันที่ต้นพันธุ์อายุอยู่ในช่วง 10 เดือน ถึง 2 ปีกำลังดี เพราะหากเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีอายุเกินกว่านั้นจะได้ต้นพันธุ์ที่ไม่แข็งแรง เนื่องมาจากการที่เคยให้ผลผลิตมามากถึง 2 รุ่นแล้ว ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะพบเจอว่าปลูกแล้วต้นพริกไทยตาย สาเหตุหลักก็มาจากต้นพันธุ์ที่ไม่ดี ซึ่งการขยายพันธุ์ของพริกไทยนั้น เราสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมกันคือการตอน ปักชำ และตอนแล้วนำมาปักชำ โดยขออธิบายคร่าวๆตามนี้

  1. แบบตอน หรือตุ้มตอน : ถ้าเลือกแบบนี้เราก็สามารถแกะจากถุงแล้วลงปลูกได้เลย โดยควรเลือกตุ้มตอนที่ออกรากค่อนข้างมากแล้วเท่านั้น ซึ่งจะใช้เวลาที่ยอดจะแตกออกมาใหม่ประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป
  2. แบบปักชำ : คือการนำกิ่งที่ตัดมาจากต้นมาปักชำลงในถุงชำ หรือปลูกลงไปในดินเพื่อรอให้รากเจริญเติบโต ซึ่งการเลือกวิธีปักชำนี้ตัวกิ่งชำจะต้องทำการชุบน้ำยากันเชื้อราไว้ด้วย เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อราได้ง่าย เพราะเป็นการตัดออกมาจากต้นเลย ซึ่งวิธีนี้จะง่ายและรวดเร็วแต่ก็จะพบปัญหาการรอดและสมบูรณ์ของต้นที่มีโอกาสค่อนข้างน้อย ตัวกิ่งพันธุ์ต้องแก่และแข็งแรงถึงจะส่งผลดี  เกษตรกรบางท่านจะเลือกใช้การนำกิ่งชำไปควบแน่น เพื่อเร่งสร้างยอดและราก แต่วิธีการนี้จะค่อนข้างซับซ้อนถ้าทำสำเร็จก็จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและจำหน่ายพันธุ์ออกไปได้ด้วยเช่นกัน
  3. แบบตอนแล้วนำไปชำ : วิธีการนี้จะค่อนข้างเห็นผลได้ดีมากกว่าทั้ง 2 วิธีข้างต้น และจะได้เปอร์เซ็นต์ต้นที่สมบูรณ์ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เพราะจะนำตุ้มตอนที่ออกรากจนดีแล้วมาชำลงในถุง เพื่อให้รากได้มีการขยายเพิ่มในถุงอีก 1 ชั้น ส่งผลให้มีระบบราก 2 ชั้น เมื่อนำไปปลูกแล้ว โอกาสที่จะเติบโตก็เพิ่มมากขึ้น แต่วิธีนี้จะต้องมีทุนทรัพย์บ้างเพราะราคาค่อนข้างสูง จึงขึ้นอยู่กับงบประมาณของผู้ปลูกรวมทั้งระบบการบริหารจัดการด้วย

ขั้นตอนการปลูกและดูแลต้นพริกไทย

หลังจากที่เราเลือกกิ่งพันธุ์สำหรับปลูกได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนการเริ่มปลูกพริกไทย ก่อนปลูกขอแนะนำว่าควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งจะใช้เป็นธาตุอาหารให้กับต้นพริกไทยได้ในระยะยาว และอย่าลืมเทดินที่เราหมักไว้ลงไปด้วย เสร็จแล้วก็ทำการขุดหลุมให้ขนาดได้พอดีกับถุงชำหรือตุ้มตอน โดยให้ลึกลงไปที่ประมาณ 1 ฝ่ามือเท่านั้น อย่าลงลึกมาก เพราะว่าในช่วงต้นพริกไทยต้องการที่จะขยายราก หากเราปลูกลงไปลึกเกินไปจะทำให้เกิดปัญหารากเดินได้น้อย จึงควรปลูกขึ้นมาจากหลุมขุดหรือไม่ก็ต้องพรวนดินให้โปร่งเหมาะสำหรับที่จะให้รากเดิน แล้วกลบดินให้มิดโคนต้นรดน้ำตามในทันที ข้อควรระวังคืออย่าให้ดินที่ปลูกแห้งหรือแฉะน้ำจนเกินไป

การดูแลรักษาต้นพริกไทย

เมื่อพริกไทยเริ่มมีการแตกยอดอ่อนได้ 3-5 ยอด ผู้ปลูกต้องคอยตัดยอดอ่อนให้เหลือเพียงยอดที่สมบูรณ์มากที่สุดต้นละ 2 ยอดเท่านั้น และควรที่จะหมั่นตรวจดูระวังอย่าให้ยอดเลื้อยไปรวมอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของค้างเพียงด้านเดียว เพราะเมื่อพริกไทยให้ผลจะส่งผลให้ค้างล้มได้ วิธีการที่ถูกต้องคือใช้เชือกมัดเถาพริกไทยเป็นเปลาะๆห่างกัน 10-15 ซม. โดยเปลาะแรกให้อยู่เหนือพื้นดิน 3 ข้อ และเมื่ออายุ 1 ปีให้เริ่มตัดยอดสูงเหนือพื้นดินมากกว่า 50 ซม.ทิ้งไปเพื่อให้แตกยอดออกมาได้ใหม่และในช่วงที่เถายังเจริญเติบโตไม่ถึงยอดไม้ค้าง ให้ตัดช่อดอกที่ออกมาช่วงระหว่างนั้นออกไป ไม่เช่นนั้นแล้วต้นจะแคระแกรนโตได้ช้าลง นอกจากนั้นควรดูแลเรื่องการใส่ปุ๋ย บำรุงดิน หมั่นพรวนดินคลุมโคนต้น เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้ต้นโยกคลอนล้มลงได้ และช่วยกระตุ้นให้รากแผ่กระจายจะได้ดูดซับอาหารสะดวกดียิ่งขึ้น

(ตอนที่ 3 การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชของพริกไทย )